DITP ติดปีกนักออกแบบรุ่นใหม่ สร้างแบรนด์ไทยสู่สากล ผู้ก่อตั้ง “Greyhound” แชร์มุมคิดพิชิตความสำเร็จ ชี้กลยุทธ์ต้องชัดและตอบโจทย์เทรนด์โลก

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เดินหน้าสานต่อ “โครงการส่งเสริมนักออกแบบไทยสู่ตลาดโลกปี 2566” ภายใต้ชื่อ Designers’ Room / Talent Thai  & Creative Studio Promotion 2023 โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างผู้ประกอบการและนักออกแบบรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพด้านการส่งออกในทุกภูมิภาคมีโอกาสเข้าสู่การเป็นแบรนด์นักออกแบบ และมีบทบาทต่อระบบเศรษฐกิจของไทยโดยในปีนี้ได้คัดเลือกนักออกแบบจากทั่วประเทศกว่า 60 ราย ให้ได้รับการบ่มเพาะ เสริมสร้างความรู้ด้านการสร้างแบรนด์ การจัดทำแผนธุรกิจ ครอบคลุมตั้งแต่การทำความเข้าใจลักษณะของตลาดแต่ละประเทศ พฤติกรรมผู้บริโภค เทรนด์ความยั่งยืน การตลาดดิจิทัลและการใช้สื่อออนไลน์ องค์ความรู้ที่ตอบสนองความต้องการของตลาด Megatrends และ Next Normal อาทิ กระบวนการออกแบบหมุนเวียน(Circular Design) การพัฒนาธุรกิจมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำและมุ่งสู่ความยั่งยืน (SDGs) เป็น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของนักออกแบบไทยรุ่นใหม่ ให้สามารถพัฒนาธุรกิจและปรับตัวตามความต้องการของตลาดต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านหลักสูตรการฝึกอบรมให้ความรู้แก่นักออกแบบ ทั้ง 2 หลักสูตร ได้แก่ ความรู้พื้นฐานของการเป็นนักออกแบบระดับสากลและค่ายบ่มเพาะนักออกแบบไทยสู่สากล โดยในปีนี้ได้เชิญคุณภาณุ อิงคะวัต ที่ปรึกษาในองค์กรเพื่อสังคมและผู้ก่อตั้งบริษัทแบรนด์ Greyhound มาให้ความรู้ในหัวข้อ “การสร้างแบรนด์ในระดับสากล” 

คุณภาณุ อิงคะวัต สะท้อนมุมมองการออกแบบไว้อย่างน่าสนใจว่า “ความคิดสร้างสรรค์และความสามารถของคนไทยถือเป็นที่ยอมรับอันดับต้นๆ ของเอเชีย และเป็นที่จับตามองของหลายประเทศทั่วโลก แต่เรื่องหนึ่งที่บ้านเรายังขาดอยู่ คือ การคิดอย่างเป็นระบบ รวมถึงการวางแผนและมีกลยุทธ์ที่ชัดเจน ซึ่งมีผลต่อการแข่งขันในตลาดและแนวทางการดำเนินธุรกิจในระยะยาว ดังนั้น นักออกแบบทุกคนต้องเริ่มจากการเปลี่ยนความคิดที่มีต่องานออกแบบว่า “All Design = Business” เพราะเราต้องการขายงานให้มีรายได้และใช้ความคิดสร้างสรรค์คู่กับการสร้างธุรกิจเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จ” 

การสร้างแบรนด์ คือ การสร้างธุรกิจให้ยั่งยืน 

การทำธุรกิจให้ยั่งยืนและอยู่ได้นานต้องเกิดจากการสร้างแบรนด์ ซึ่งหมายถึงการเป็นที่รู้จักและถูกยอมรับจากลูกค้าจนเกิดเป็นความชอบ ความผูกพันและประสบการณ์ที่ลูกค้ามีต่อแบรนด์ เนื่องจากแบรนด์เป็นพลังที่ซ่อนอยู่ในใจของผู้คน มีอิทธิพลต่อความคิด ความรู้สึก ทัศนคติและมีผลต่อการตัดสินใจซื้อ ซึ่งการสร้างแบรนด์ที่เข้มแข็งจะทำให้เกิดเป็นจิตวิญญาณของแบรนด์ หรือที่หลายคนเรียกว่า Brand Value อันเป็นเสน่ห์เฉพาะตัวของแบรนด์ที่ลูกค้าจับต้องได้ทั้งทางความรู้สึกและจับต้องได้จริง นำไปสู่การต่อยอดและสร้างคุณค่าได้อีกมากมาย

หัวใจสำคัญปั้นธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ

การสร้างธุรกิจให้สำเร็จ จำเป็นต้องอาศัยหลักการที่เป็นหัวใจสำคัญ 3 ประการ ได้แก่

  1. ทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักและได้รับความนิยม จะทำให้เกิดความเชื่อถือในหมู่ลูกค้า และขยายวงกว้างออกไปเป็นความต้องการสินค้าที่เพิ่มมากขึ้น
  2. สิ่งที่เราอยากทำต้องมาบรรจบกับกับสิ่งที่ลูกค้าต้องการ การทำงานต้องมาจาก Passion ที่ตัวเองมี โดยต้องนำมาปรับใช้ให้สอดคล้องความต้องการลูกค้า เพื่อสร้างความต้องการในการซื้อขายสินค้า
  3. ความร่วมมือจากหลายส่วน ความสำเร็จไม่สามารถเกิดได้จากคนเดียว แต่ต้องเกิดจากคนหลายส่วน เช่น ดีไซน์เนอร์ พนักงานขาย นักประชาสัมพันธ์ และกราฟิกดีไซน์เนอร์ หรือแม้แต่การทำงานร่วมกันระหว่างแบรนด์ (Collaboration) เพื่อทำให้เกิด The Best of Totality ของแบรนด์

เคล็ดลับในการค้นหาจิตวิญญาณของแบรนด์

จิตวิญญาณของแบรนด์คือรากฐานสำคัญที่ทำให้แบรนด์แข็งแรง มั่นคง และยืนหยัดได้อย่างโดดเด่นท่ามกลางการแข่งขันของตลาด ซึ่งเคล็ดลับที่จะช่วยค้นหาจิตวิญญาณของแบรนด์มีดังนี้

  1. รู้จักสินค้าอย่างดีและเข้าใจเอกลักษณ์ที่แตกต่างของตัวเอง สามารถอธิบายและบอกเล่าถึงเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของตัวเองได้ผ่านสินค้าหรือการตลาด
  2. เรียนรู้เกี่ยวกับตลาดหรือคู่แข่ง ทั้งเรื่องเทรนด์ ราคา หรือแนวโน้มตลาดอื่น ๆ  เพื่อมองหาโอกาสและช่องว่างที่จะยืนในตลาดได้อย่างมั่งคง 
  3. เรียนรู้ความต้องการของลูกค้า โดยเริ่มจากการแยกแยะกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน เพื่อเรียนรู้และทำความเข้าใจพฤติกรรมและความชอบของลูกค้าเหล่านี้ นำไปสู่การออกแบบสินค้าและบริการที่ตรงใจ

การสร้างแบรนด์ให้โตในตลาดโลก

เมื่อสร้างแบรนด์จนมั่นคงแล้ว การขยายโอกาสไปสู่ตลาดต่างประเทศอาจเป็นสิ่งที่หลายคนมองหา แต่อันดับแรกควรตั้งคำถามกับตัวเองก่อนว่าธุรกิจที่ทำอยู่จำเป็นต้องไปต่างประเทศหรือไม่ และมีความพร้อมแค่ไหนทั้งในแง่ของการจัดการธุรกิจ การบริการ และค่าใช้จ่าย รวมทั้งตลาดในประเทศไทยอิ่มตัวจนไม่สามารถขยายธุรกิจได้แล้วหรือไม่ หากสามารถตอบคำถามเหล่านี้ได้และพบว่าตัวเองมีความพร้อมที่จะไปต่างประเทศแล้ว คุณภาณุได้ให้คำแนะนำไว้ดังนี้

  1. รู้ว่าแบรนด์ของตัวเองเป็นที่รู้จักในต่างประเทศ เพราะหากแบรนด์ไม่ได้เป็นที่รู้จักในต่างประเทศ อาจมีผลต่อการลงทุนในสายตาของนักลงทุน และจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรมากกว่าแบรนด์ที่คนต่างชาติรู้จัก ดังนั้น ควรเริ่มต้นจากการทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักในหมู่คนต่างชาติ
  2. เช็กลิสต์ความพร้อมไปต่างประเทศ ทั้งในแง่ของคุณภาพและความแตกต่างของสินค้า ราคาการบริการที่มีประสิทธิภาพ รวมไปถึงการตลาดที่จะช่วยสนับสนุนการทำธุรกิจตั้งแต่การสร้างคอนเทนต์เพื่อใช้สื่อสารกับลูกค้า การออกงานอีเว้นท์หรืองานแฟร์ที่ช่วยโปรโมทแบรนด์ให้มีตัวตน รวมถึงการทำโปรโมชั่นต่าง ๆ
  3. รู้ Position ของแบรนด์ ผ่านการทำ Brand Mapping ระหว่างแบรนด์ของตัวเองกับแบรนด์คู่แข่งในตลาดของประเทศที่จะไป เพื่อใช้กำหนดทิศทางและกลยุทธ์ที่เหมาะสม

ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถติดตามและสอบถามข้อมูลของโครงการเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ www.ditp.go.th สายด่วนการค้าระหว่างประเทศ โทร 1169 หรือผ่านทาง Facebook page : Talent Thai & Designers’ Room 

Trending News